วันจันทร์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2553

โครงงานเรื่องความหลากชนิดของพรรณไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจในป่าชุมชนตำบลขามสะแกแสง อำเภอขามสะแกแสง จังหวัดนครราชสีมา

บทคัดย่อ

ชื่อเรื่อง ความหลากชนิดของพรรณไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจในป่าชุมชน
ตำบลขามสะแกแสง อำเภอขามสะแกแสง จังหวัดนครราชสีมา
จัดทำโดย 1. นายพงศธร อยู่ปานกลาง
2. นางสาวศิริวรรณ ฉลองกลาง
3. นางสาวศิรินันท์ พือสันเทียะ
ครูที่ปรึกษา 1. นางสาวพุทธิภา เหล็กคงสันเทียะ
2. นายรังสรรค์ แสงขามป้อม

การศึกษาครั้งนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาความหลากหลายของชนิด ความหนาแน่น ความหนาแน่นสัมพัทธ์ ความถี่ ความถี่สัมพัทธ์ ความเด่น ความเด่นสัมพัทธ์ และประโยชน์ของพรรณไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ ในป่าชุมชนตำบลขามสะแกแสง อำเภอขามสะแกแสง จังหวัดนครราชสีมา เก็บข้อมูลภาคสนามระหว่าง วันที่ 1 กรกฎาคม-9 สิงหาคม 2553 วิธีการศึกษาโดยใช้วิธีการวางแปลงตัวอย่างขนาด 40 x 40 เมตร2 การเก็บรวบรวมข้อมูลโดยการนับจำนวนชนิดและจำนวนต้นของพรรณไม้ และการสัมภาษณ์ตัวแทนชุมชน
ผลการศึกษาพบว่า แปลงตัวอย่างมีจำนวนพรรณไม้ทั้งสิ้น 18 วงศ์ 27 ชนิด พรรณไม้ที่มีความหนาแน่น และความหนาแน่นสัมพัทธ์มากที่สุด คือ กระถิน (0.2500 ต้น/ตารางเมตร, 53.88) รองลงมา คือ สัก (0.0431 ต้น/ตารางเมตร, 9.29) พรรณไม้ที่มีความหนาแน่น ความหนาแน่นสัมพัทธ์น้อยที่สุด คือ ตาลโตนด (0.0006 ต้น/ตารางเมตร, 0.13) พรรณไม้ที่มีความถี่ และความถี่สัมพัทธ์มากที่สุด คือ สัก และกระถิน (1, 13.30) รองลงมา คือ ตะกู (0.63, 8.38) และสำโรง (0.38, 5.05) ตามลำดับ พรรณไม้ที่มีความถี่ และความถี่สัมพัทธ์น้อยที่สุด คือ ตาลโตนด ตระคร้อ และแค (0.06, 0.80) พรรณไม้ยืนต้นที่มีความเด่น (Do) และความเด่นสัมพัทธ์ (RDo) มากที่สุด คือ ทองกวาว (0.6233, 23.01) รองลงมา คือ แค (0.2164, 7.98) ขี้เหล็ก (0.2035, 7.51) และสัก ตาลโตนด ตะโก มีค่าเท่ากัน (0.1503, 5.55) ตามลำดับ พรรณไม้ยืนต้นที่มีความเด่น (Do) และความเด่นสัมพัทธ์ (RDo) น้อยที่สุด คือ ตะเคียน (0.0050, 0.19)
ประโยชน์พรรณไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจในป่าชุมชนตำบลขามสะแกแสง อำเภอขามสะแกแสง จังหวัดนครราชสีมา จำแนกตามกลุ่มพรรณไม้ พบว่า กลุ่มพรรณไม้ยืนต้นสามารถใช้ประโยชน์ได้จำนวนมากชนิดที่สุด คือ กลุ่มเป็นเชื้อเพลิงและไม้ฟืน จำนวน 27 ชนิด (ร้อยละ 100) รองลงมา กลุ่มก่อสร้างและเครื่องเรือน จำนวน 18 ชนิด (ร้อยละ 66.67) กลุ่มยาสมุนไพร จำนวน 16 ชนิด (ร้อยละ 59.26) และจำนวนน้อยชนิดที่สุด คือ กลุ่มเป็นอาหาร จำนวน 12 ชนิด (ร้อยละ 44.44) ตามลำดับ นอกจากนี้มีประโยชน์ด้านอื่นๆอีก เช่น การให้สีย้อม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น